วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

พระขรัวอีโต้





จากแผ่นทองแดงจารึกภาษาขอม ระบุว่า ผู้สร้างพระขรัวอีโต้นี้คือ สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ และ นายทองด้วง มหาดเล็กคนสนิทของท่าน สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ เป็นผู้มีคาถาอาคมแก่กล้า ชาวบ้านเคารพนับถือท่านมาก และต่างพากันเรียกสามัญนามของท่านว่า พระขรัวอีโต้ ตามประวัติเล่ากันว่า เมื่อครั้งสมัยไทยเสียกรุงแก่พม่าครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๒๓๑๐ สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ได้ถูกต้อนไปอยู่เมืองพม่าหลายปี ต่อมาเมื่อ พระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) ทรงกู้อิสรภาพได้แล้ว สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ จึงได้หลบหนีพม่า กลับมาสู่เมืองไทย พร้อมกับโยมน้องผู้หญิงของท่านคนหนึ่ง ในระหว่างทาง เวลาค้างแรม ท่านจะนำ มีดอีโต้ คั่นตรงกลาง ระหว่างท่านกับโยมน้องผู้หญิงทุกครั้ง จนกลับมาถึงกรุงธนบุรี โดยพำนักอยู่ที่วัดราษฎร์บูรณะ (วัดเลียบ) ชาวบ้านและพระสงฆ์ต่างโจษจันกันว่า ท่านจะต้องอาบัติปาราชิกกับโยมน้องผู้หญิงของท่านอย่างแน่นอน เพราะเป็นการรอนแรมมาด้วยกันเพียง ๒ คน เมื่อมีการร่ำลือกันมากๆ ท่านจึงประกาศเชิญผู้ที่กล่าวหา และผู้ที่สงสัยในตัวท่าน มาที่ริมสระน้ำในวัด แล้วเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง โดยมี มีดอีโต้ เป็นพยาน แต่ไม่มีใครเชื่อ ท่านจึงทำการเสี่ยงสัตย์ต่อพระแม่คงคา ขอให้พระแม่คงคาเป็นพยานยืนยันว่า ถ้าท่านบริสุทธิ์ อยู่ในศีลพรหมจรรย์จริง ขอให้มีดอีโต้เล่มนี้จงลอยน้ำ หลังจากนั้น ท่านได้ขว้าง มีดอีโต้ ของท่านลงไปในน้ำ ได้เกิดปรากฏการณ์เป็นที่มหัศจรรย์มาก มีดอีโต้ไม่จมน้ำ กลับลอยอยู่บนผิวน้ำ ทั้งๆ ที่ปกติจะต้องจมน้ำ เพราะมีดเป็นเหล็ก ย่อมมีน้ำหนักพอสมควร ทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ จึงตื่นตะลึงและโจษขานกันว่า ขรัวอีโต้ลอยน้ำ พร้อมกันนั้น ทุกคนก็เชื่อในความบริสุทธิ์ของท่าน และเรียกชื่อท่านว่า พระขรัวอีโต้ลอยน้ำ หรือ พระขรัวอีโต้ จนเป็นฉายานามของท่านตลอดมา พระขรัวอีโต้ เป็นผู้มีวิชาความรู้ทางคาถาอาคมมาก ชาวบ้านต่างพากันให้ความเคารพศรัทธาเลื่อมใส ขณะเดียวกันท่านก็ได้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของชาวบ้านมาโดยตลอด จนได้เป็น สมเด็จพระศรีสมโพธิ์ ต่อมาท่านพร้อมกับ นายทองด้วง ได้สร้าง พระเนื้อผง ขนาดองค์พระเล็กกะทัดรัด ขึ้นมาเพื่อสืบพระศาสนา โดยบรรจุไว้ที่เจดีย์วัดราษฎร์บูรณะ ว่ากันว่าจำนวนพระที่สร้างมีมากถึง ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามพระธรรมขันธ์ พระเครื่องนี้ชาวบ้านเรียกตามชื่อของท่านว่า พระขรัวอีโต้ เป็นความเข้าใจที่ง่ายดี พระขรัวอีโต้ ที่บรรจุเอาไว้ในองค์เจดีย์ ถูกชาวบ้านลักขุดอยู่เป็นประจำ จนในที่สุด พระได้แตกกรุอย่างเป็นทางการ เมื่อพ.ศ.๒๔๗๓ ช่วงที่ทางราชการได้ขยับขยายพื้นที่ เพื่อก่อสร้าง สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระขรัวอีโต้ กรุวัดเลียบ(วัดราษฎร์บูรณะ) ต่อมาได้มีผู้นำพระขรัวอีโต้ พระพิมพ์นี้ไปใช้แล้วเกิดประสบการณ์มากมาย โดยเฉพาะด้านแคล้วคลาดคงกระพันชาตรี จนได้รับสมญานามว่า พระรอดเมืองใต้








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น